วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


โอ่งมังกรราชบุรี





         หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนกับดิฉัน พอพูดคำว่า โอ่ง ก็ไม่มีที่ไหนจะดังและดีไปกว่าโอ่งมังกรราชบุรี และทุกคนก็จะนึกถึงจังหวัดราชบุรีเป็นอันดับแรก เพราะจังหวัดราชบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองโอ่ง ซึ่งโอ่งของราชบุรีก็เป็นสินค้าและเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดแล้วยังเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอีกด้วย หลายๆคนก็จะเรียกจังหวัดราชบุรีว่า เมืองโอ่งมังกร เพราะจังหวัดราชบุรีนั้นมีแต่โอ่ง โอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรีในยุคแรก จะใช้ช่างชาวจีนที่เดินทางมารับจ้างเป็นช่างปั้น ในประเทศไทยทำลวดลายต่างๆเหมือนโอ่งมังกรที่ทำในประเทศจีนแทบทั้งหมด สำหรับชาวราชบุรียังคงมีการผลิตอยู่เช่นเดิม แต่ก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วจำหน่ายได้น้อยจนสินค้าล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำกว่าแต่ก่อนมากทุกโรงกำลังประสบกับปัญหาการแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง แต่รายรับต่ำเกิดภาวะขาดทุนแทบทุกเดือน จนบางโรงงานต้องปิดกิจการไปแล้ว ในอนาคตอาจจะเหลือแต่เพียงชื่อและตำนานในอดีตของเมืองราชบุรีโอ่งมังกร อย่างไรก็ตาม โอ่งลายมังกรเมืองราชบุรี คงจะเป็นสินค้าออกของจังหวัดไปอีกนานทีเดียว หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมโอ่งต้องเป็นลายมังกร คนจีนนั้นชอบมังกร เพราะมังกรเป็นสิ่งที่มีความหมายดี มีความเป็นมงคล และมีความมีอำนาจ แล้วยังมีความงามแฝงและฝังตามความเชื่อคนจีน ทุกท่านคงคิดว่า เป็นแค่ความเชื่อของคนจีนทำไมคนไทยถึงเชื่อไปด้วย และดิฉันคิดว่าคนจีนอยู่ในเมืองไทยไม่ใช่น้อยนะและด้วยนิสัยคนไทยนั้นมีความเชื่อเรื่องเสริมดวงชะตา โชคลาภ และบารมี จึงทำให้คนไทยเชื่อ และตำราโหราศาสตร์ไทย บอกว่า ถ้ามีน้ำอยู่ทางขึ้นบ้านหรือหน้าบ้านจะเป็นมงคล ทำให้มีการซื้อโอ่ง อ่าง หรือ ไห มีตั้งที่ทางขึ้นบ้านหรือหน้าบ้าน และนี่ก็เป็นที่มาของโอ่งราชบุรีลายมังกร


การทำโอ่งมังกรมีด้วยกัน ๕ ขั้นตอน



ขั้นตอนที่ ๑ การเตรียมดิน เนื้อดินสีน้ำตาลแดงที่ได้จากท้องนาทั่วไปในจังหวัดราชบุรีเป็นเนื้อดินเหนียวที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีความละเอียดเหนียวเกาะตัวกันได้ดีนำมาหมักไว้ในบ่อดิน แช่น้ำทิ้งไว้ ๑ สัปดาห์เพื่อให้น้ำซึมเข้าในเนื้อดินให้ดินอ่อนตัวทั่วถึงกันและเป็นการทำความสะอาดดินไปในตัวด้วย หลังจากนั้นตักดินขึ้นมากองไว้ แทงหรือตักดินด้วยเหล็กลวดให้เป็นก้อน นำเข้าเครื่องโม่หรือเครื่องนวดเพื่อให้เนื้อดินเข้ากัน แล้วใช้เหล็กลวดหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลวดตัวเก็ง ตักดินที่โม่แล้วให้เป็นก้อนมีขนาดเหมาะพบกับการปั้นงานแต่ละชิ้นนำมานวด โดยผสมทรายละเอียดเล็กน้อยอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้โอ่งมังกรมีเนื้อที่แกร่งและคงทนยิ่งขึ้น    



ขั้นตอนที่ ๒ การขึ้นรูปหรือการปั้น แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ
ส่วนขาหรือส่วนกัน โดยการนำดินที่ผ่านการนวดให้เป็นเส้นแล้วมีความยาวประมาณ ๓๐ เซลติเมตร วางลงบนแผ่นไม้ ซึ่งวางบนแป้น ก่อนวางต้องใช้ขี้เถ้าโยเสียก่อนเพื่อไม่ให้ดินติดกับแผ่นไม้และสะดวกต่อการยกลง เนื้อดินส่วนนี้มีลักษณะเป็นก้อนกลมหรือก้อนสี่เหลี่ยมแผ่ออกเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางตามขนาดของโอ่งที่ต้องการ จากนั้นนำดินเส้นมาวางต่อกันเป็นชั้นเรียนกว่า การต่อเส้น เมื่อปั้นตัวโอ่งและยกลงจากแป้นแล้ว ตบแต่งผิวด้านนอกและ ด้านใน โดยการขูดดินที่ไม่เสมอกันออกให้ผิวเรียบ แล้วใช้ลูบเพื่อให้ผิวเนียนอีกครั้งหนึ่ง



ขั้นตอนที่ ๓ การเขียนลาย ก่อนที่จะนำโอ่งมาเขียนลาย ต้องตบแต่งผิวให้เรียบเสียก่อนด้วยฮุ่ยหลุบและไม้ตี โอ่งที่ตบแต่งผิวเรียบร้อยแล้วจะต้องนำมาเขียนลายทันทีเพราะถ้าทิ้งไว้เนื้อดินจะแห้งทำให้เขียนลายไม่ได้ สำหรับแป้นที่ช่างใช้เขียนลายนั้นจะต้องเป็นแป้นไม้หมุน ขณะเขียนลายลงบนตัวโอ่งช่างจะใช้เท้าถีบที่แกนหมุนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเขียนเสร็จ วัสดุที่ใช้เขียนลายเป็นดินเนื้อละเอียดผสมกับดินขาวเรียกว่า ดินติดดอก มีสีนวล ดินขาวนั้นได้มาจากจังหวัดจันทบุรีหรือสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีคุณภาพดี เหมาะสำหรับการนำมาเป็นดินติดดอกบนตัวโอ่งราชบุรี ช่างเขียนลายจะใช้ดินสีนวลนี้ปาดด้วยมือเป็นเส้นเล็กๆ รอบตัวโอ่งแบ่งเป็นสามตอนหรือสามช่วง คือช่วงปากโอ่งลำตัวและส่วนเชิงล่างของโอ่ง ในแต่ละตอนแตะละช่างจะมีลวดลายที่ไม่เหมือนกัน





ขั้นตอนที่ ๔ การเคลือบ น้ำยาที่ใช้ในการเคลือบเป็นส่วนผสมของขี้เถ้าและน้ำโคลนหรือเลนและสีเล็กน้อย ซึ่งเป็นสีที่ได้จากออกไซด์ของเหล็ก ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลเข้มการเคลือบจะนำโอ่งไปวางหงายในกระทะขนาดใหญ่ หรือกระทะในบัว ใช้น้ำยาเคลือบเทราดให้ทั่วทั้งด้านในและด้านนอก แล้วจึงนำไปวางผึ่งลมไว้ โอ่งที่เคลือบน้ำยานั้น นอกจากจะทำให้เกิดสีสันสวยงานเป็นมันเมื่อเผาแล้ว ยังช่วยในการสมานรอยต่างๆ ในเนื้อดินให้เข้ากัน เมื่อนำไปใส่น้ำจะไม่ทำให้น้ำซึมออกมาด้านนอกด้วย

ขั้นตอนที่ ๕ การเผา เตาเผาโอ่งมังกรเรียกว่า เตาจีนหรือเตามังกง ก่อด้วยอิฐทนไฟเป็นรูปยาว ด้านหัวเตาเจาะเป็นช่องประตูสำหรับเป็นทางลำเลียงโอ่งและภาชนะดินเผาอื่นๆ ด้านบนของเตาทั้งสองด้านเจาะรูเป็นระยะ เรียกว่า “ตา” เพื่อใช้ใส่เชื้อเพลิงคือฟืนปัจจุบันใช้ฟืนไม้กระถิน ลักษณะของเตามังกรนี้ด้านหนึ่งอยู่ระดับเดียวกับพื้นดินใช้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟ อีกด้านหนึ่งสูงกว่าเพราะต้องทำให้ตัวเตาเอียงลาด เป็นส่วนก้นของเตา ใช้เป็นปล่องระบายควัน

           
          และนี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆเกี่ยวกับโอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรี ที่ใครๆก็รู้จัก พอพูดถึงโอ่ง ก็จะนึกถึงจังหวัดราชบุรีเป็นอันดับแรก เพราะจังหวัดราชบุรีนั้น เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอ่ง ถึงแม้เศรษฐกิจจะตกต่ำแต่ในปัจจุบันเมืองโอ่งราชบุรีนั้นก็ได้ผลิตโอ่งที่มีรูปแบบที่แปลกใหม่มาอย่างมากมาย มีสีสันที่สวยงาม และสามารถนำไปประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามได้อีกด้วย







สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ผู้จัดทำ โดย จันทิมา คณารักษ์สันติ อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น